ประกาศกฎโฆษณาฉบับใหม่ ห้ามใช้ข้อความที่เกินจริงพิสูจน์ไม่ได้ มีโทษปรับและจำคุก
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566
เนื่องจากภาษาที่ใช้ ในประกาศนั้น จะค่อนข้างเข้าใจยากหน่อย บทความนี้จึงสรุปประเด็นสำคัญ ให้เข้าใจง่ายขึ้นเพื่อให้นักการตลาดนำแนวทางไปใช้ หลีกเลี่ยงการใช้ข้อความต้องห้ามที่เข้าข่ายมีความผิดได้

ห้ามมีข้อความปัดความรับผิดชอบหรือสงวนสิทธิ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ห้ามระบุข้อความประเภท สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องของราคา และตัวสินค้า
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่ายมีดังนี้
- บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
- ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า
- ขอสงวนสิทธิ์ปัดเศษส่วนลดขึ้น โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
- ภาพสินค้าเป็นเพียงตัวอย่างอาจไม่ตรงกับรุ่นที่จัดโปรโมชั่น
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยกเว้น หรือจำกัดความรับผิด หรือข้อความที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันที่ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ
https://ratchakitcha.soc.go.th/
ห้ามใช้ข้อความประเภท เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์ เรียกคนรัก แก้เคราะห์ แก้กรรม
ห้ามใช้ข้อความที่เน้นเจาะเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล หรือเจาะกลุ่มคนที่กำลังมีปัญหาและความทุกข์ ต้องการที่พึ่งทางใจ เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีความเประบาง อาจจะหลงเชื่อได้ง่าย
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่ายมีดังนี้
- เมื่อใช้แล้ว จะเห็นผลทันที
- เห็นผลภายใน 7 วัน
- รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา
- รับแก้เคราะห์ แก้กรรม
- เสริมบารมี
- เพิ่มยอดขาย
- เพิ่มเสน่ห์
- ใครเห็นใครรัก
- นั่งสมาธิดูอดีตชาติ
- หรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาไม่ควรใช้ข้อความโฆษณาที่อาศัยความเชื่อส่วนบุคคลหรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายในลักษณะทำนองเดียวกันเป็นสิ่งเชิญชวนหรือชักจูงใจให้ผู้บริโภคที่กำลังมีความทุกข์หรือต้องการที่พึ่งทางใจซื้อสินค้าหรือรับบริการ
https://ratchakitcha.soc.go.th/
ห้ามใช้ข้อความประเภทรับประกันเกินจริง
ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการประกันหลังการขายต่างๆ ต้องระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน ครบถ้วน ไม่เกินจริง
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่ายมีดังนี้
- ปลอดภัย หายห่วง
- หากมีปัญหา จ่ายทันที! 200,000 บาท
- ไม่ถูกใจยินดีคืนเงิน
- ไม่เห็นผลยินดีคืนเงิน
- รับประกันความพึงพอใจ
- หากสินค้าเกิดความเสียหายจากการขนส่ง เปลี่ยนสินค้าใหม่ทันที
- ใช้ข้อความรับประกันสินค้าโดยไม่ระบุเงื่อนไขให้ชัดเจน
ข้อ 9 ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการรับประกันสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องระบุตัวผู้รับประกัน ระยะเวลาการรับประกัน ลักษณะ ขอบเขต ขั้นตอน วิธีการและเงื่อนไขของการปฏิบัติตามสัญญาของการรับประกันให้ชัดเจนและถูกต้องครบถ้วน เพื่อแสดงถึงเจตนาความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณา และมิให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
https://ratchakitcha.soc.go.th/
หากใช้ข้อความที่มีการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรืออ้างอิงผลวิจัย สถิติ ต่างๆ ต้องมีข้อมูลยืนยันชัดเจน
และหากถูกเรียกตรวจสอบในการพิสูจน์ข้อความโฆษณาต้องรวบรวมหลักฐานดำเนินการภายใน 15 วัน
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่ายมีดังนี้
- ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด สุดยอด ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย
- ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว รายเดียว รายแรก เจ้าแรก แห่งเดียว ครั้งแรก มีเพียงที่เดียวในประเทศ
- ยอดขายอันดับ 1
- ยอดขายอันดับต้นๆ จากประเทศ….
- ดีกว่า มากกว่า
- มีเพียงแค่ 2 แห่งในประเทศ
- เห็นผล 100%
- ข้อความที่อ้างอิงผลการทดสอบ ผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ หรือที่ได้รับการรับรองจาก….
- ผ่านมาตรฐานจากสถาบันการการทดสอบจากต่างประเทศ
- ได้รับรางวัล…
ข้อ 10 ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเปรียบเทียบคุณสมบัติสินค้าหรือบริการของตนกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน หรือข้อความอ้างอิงข้อเท็จจริงจากรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดในการโฆษณา ตลอดจนรางวัลต่างๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้กระทำการโฆษณาต้องมีหน้าที่พิสูจน์เอกสารหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันได้ในขณะที่โฆษณาโดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอ้างอิง
https://ratchakitcha.soc.go.th/
ทั้งนี้หากคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงดังกล่าว คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจออกคำสั่งให้นำข้อมูลมาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ และในกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาจะออกคำสั่งระงับการโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ได้
ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
Photo by Markus Spiske on Unsplash